วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ข้อดีของการสื่อสารด้วยคำพูด,ลักษณะของผู้พูดที่ด,คุณสมบัติเบื้องต้นของนักพูดที่ดีี

7. ข้อดีของการสื่อสารด้วยคำพูด

1) สร้างความเข้าใจให้กับผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว เพราะการใช้คำพูดสื่อสารกันนั้น มักจะเป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งผู้พูดและผู้ฟังมีโอกาสพูดจาโต้ตอบกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร
2) เป็นเครื่องมือสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับบุคคลได้ผลที่สุด แม้แต่คนที่ไม่เคยรู้จักกันการที่ได้พบปะพูดคุยสนทนากันได้เห็นหน้าตา อากัปกิริยา ท่าทาง บุคลิกลักษณะน้ำเสียง ท่วงทำนองการพูด ของแต่ละฝ่ายย่อมจะมีอิทธิพลชักจูงความสนใจ ก่อให้เกิดความประทับใจความสนิทสนมเป็นกันเองได้โดยง่าย
3) สามารถพิสูจน์ได้ว่าคำพูดที่พูดไปได้ผลหรือไม่ทันที เพราะในขณะที่พูดจาโต้ตอบกันนั้นทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสเห็นปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าสิ่งที่พูดออกไปนั้นได้ผลหรือไม่ หรือเกิดผลอย่างไร
4) สามารถดัดแปลงแก้ไขคำพูดหรือยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับโอกาส เวลา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ในการพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าผู้พูดสังเกตเห็นว่าผู้ฟังมีกิริยาท่าทางไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ ผู้พูดอาจปรับเรื่องที่พูดให้ง่ายขึ้นเป็นต้น

8. ข้อจำกัดของการสื่อสารด้วยคำพูด

1) สถานที่ไม่เอื้ออำนวย ต่อการสื่อสารด้วยคำพูด เช่น สถานที่อยู่ห่างไกล หรือมีสิ่งรบกวนมากหรือเวลาจำกัดก็ไม่อาจใช้วิธีสื่อสารโดยการพูดให้ได้ผลได้ นอกจากนี้การสื่อสารด้วยคำพูดมักมีขอบข่ายครอบคลุมผู้ฟังได้ไม่มากนัก
2) เรื่องสื่อสารมีความซับซ้อน หรือเป็นเรื่องนามธรรมที่เข้าใจยาก หรือเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวรายละเอียดข้อมูลต่างๆมาก การใช้คำพูดเพียงประการเดียวอาจทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจการเขียนจะเหมาะสมกว่า
3) สารจากคำพูด เป็นสารที่ไม่คงทน กล่าวคือ พูดเสร็จแล้วก็ผ่านหายไปผู้ฟังไม่มีโอกาสฟังซ้ำหรือไม่สามารถกลับมาทบทวนทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งได้ เมื่อสารนั้นไม่คงทนย่อมจะนำมาเป็นหลักฐานไม่สะดวกนัก
4) มีโอกาสผิดพลาดในแง่ข้อเท็จจริง หรือผิดจากเจตนาที่แท้จริงของผู้พูดได้ง่าย เพราะผู้พูดอาจจะเผอเรอหรือพลาดพลั้งคำพูดต่างๆ ได้นอกจากนี้การสื่อสารด้วยคำพูดยังเปิดโอกาสให้ผู้ฟังนำคำที่ได้ฟังไปตีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เช่น จะเห็นบ่อยๆ จากบุคคลที่มีชื่อเสียงให้สัมภาษณ์ ภายหลังก็มีการแถลงข้อเท็จจริง หรือแถลงแก้ข่าวในหนังสือพิมพ์ ในวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น

9. ลักษณะของผู้พูดที่ดี

การพูดที่ดี หมายถึง การรู้จักใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และบุคลิกภาพต่างๆ ของผู้พูดให้สื่อความหมายแก่ผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรู้จักใช้จรรยามารยาท และประเพณีนิยมอันดีงามเพื่อถ่ายทอดความรู้ความคิด และความต้องการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ ผู้ฟังตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างครบถ้วน นิพนธ์ ศศิธร ได้กล่าวถึงการพูดที่ดีต่อชุมชนว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ประการ คือ
1) การพูดที่มีถ้อยคำดี ได้แก่ถ้อยคำที่เป็นความจริงถ้อยคำที่มีประโยชน์ถ้อยคำที่เป็นที่พึงใจแก่ผู้ฟัง
2) การพูดที่มีความเหมาะสม ได้แก่ความเหมาะสมกับกาลสมัยความเหมาะสมกับเวลาที่กำหนดให้ความเหมาะสมกับโอกาส
3) การพูดที่มีความมุ่งหมาย ได้แก่ความมุ่งหมายทั่วไปความมุ่งหมายเฉพาะบุคคล
4) การพูดที่มีศิลปะการแสดงดีการใช้กริยา สีหน้า และท่าทางให้สอดคล้องกับเรื่องการใช้เสียงชัดเจน มีการเน้นย้ำ และจังหวะวรรคตอน

10. คุณสมบัติเบื้องต้นของนักพูดที่ดี

นักพูดที่ดีจำต้องปรับปรุงพื้นฐานของตนให้มีคุณสมบัติที่สำคัญเบื้องต้น 5 ประการดังนี้

1) เป็นนักฟังที่ดี นักพูดไม่ใช่ฝึกพูดอย่างเดียว ต้องฝึกฟังด้วย ต้องรู้ว่า เมื่อไรควรพูดเมื่อไรควรฟัง การฟังผู้อื่นทำให้เราได้รับความรู้เพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้ทบทวนความรู้เดิมที่เรามีอยู่แล้ว ข้อสำคัญถ้าเลือกฟังในสิ่งที่มีประโยชน์ก็จะทำให้เพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวเองมากขึ้น
2) ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ นักพูดต้องศึกษาหาความรู้ไม่หยุดยั้ง ความรู้ที่ว่านี้นอกจากจะได้จากการฟังแล้วความรู้ที่ได้จากการอ่านสำคัญที่สุด การอ่านเป็นวิธีตักตวงความรู้ที่รวดเร็วและรวบรัดที่สุด นักพูดต้องรักการอ่านให้มากจะเป็นประโยชน์แก่การพูด การพูดก็จะวนเวียนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน พอพูดซ้ำมากๆ เข้าก็จะเกิดความเบื่อตัวเอง เมื่อผู้พูดเบื่อตัวเองก็จะไม่มีผู้ฟังคนไหนอยากฟัง
3) ยอมรับฟังคำวิจารณ์ นักพูดต้องยอมรับฟังวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นต้องต้อนรับทั้งคำติและชม น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น นำมาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง
4) เป็นตัวของตัวเอง นักพูดที่ดีต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลียนแบบใคร งานเลียนแบบเป็นงานที่ไร้เกียรติไม่สร้างสรรค์ และไม่ทำความภูมิใจให้แก่ตัวเอง ถ้ามีบุคคลใดเป็นตัวอย่างในการพูดที่ดี ขอให้จดจำนำเอาบางสิ่งบางอย่างของเขามาลองปฏิบัติดู อย่าเลียนแบบเขาทั้งหมด จงเป็นตัวของตัวเอง ได้ของดีจากใครได้ความรู้ข้อคิดดีๆจากใคร ถ้าทำได้ควรเอ่ยนามเขาให้ปรากฏ นอกจากจะได้แสดงมารยาทอันงดงามแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำไม่เคอะเขินอีกด้วย
5) มีความสุขในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น นักพูดต้องมีความสุขและความพอใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ฟัง และถ่ายทอดให้จบสิ้นตามที่ผู้ฟังกำหนด นอกเสียจากเวลาหรือเงื่อนไขอื่นบังคับ เมื่อหมดแล้วก็แสวงหาสิ่งใหม่ทุกครั้งที่มีโอกาสพูดขอให้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำประโยชน์เป็นเกียรติยศที่ผู้ฟังหยิบยื่นให้แก่เรา ซึ่งจะทำให้มีความมุ่งมั่น ความกล้าที่จะทุ่มเทให้กับการพูดทุกครั้ง ขอให้จำง่าย ๆ ว่า “ เป็นนักฟัง ยังศึกษา ท้าวิจารณ์ งานริเริ่ม เติมความสุข ”

ไม่มีความคิดเห็น: