วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ความหมายของการฟัง

การฟัง


1. ความหมายของการฟัง
การฟัง คือ การรับรู้ความหมายจากเสียงที่ได้ยิน เป็นการรับสารทางหูการได้ยินเป็นการเริ่มต้นของการฟังและเป็นเพียงการกระทบกันของเสียงกับประสาทตามปกติ จึงเป็นการใช้ความสามารถทางร่างกายโดยตรง ส่วนการฟังเป็นกระบวนการทำงานของสมองอีกหลายขั้นตอนต่อเนื่องจากการได้ยินเป็นความสามารถที่จะได้รับรู้สิ่งที่ได้ยิน ตีความและจับความสิ่งที่รับรู้นั้นเข้าใจและจดจำไว้ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา

2. จุดมุ่งหมายของการฟัง
เวลาเราฟังเรามักไม่ทันคิดว่า เราฟังเพื่อความมุ่งหมายอะไรแต่เรารู้ว่า เมื่อเราไปฟังดนตรี เราฟังเพื่อความเพลิดเพลินและความสุขใจเป็นสำคัญ เมื่อไปฟังปาฐกถาเราอาจฟังเพื่อให้ได้รับความรู้และได้รับความเพลิดเพลินด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ดีหากเรากำหนดจุดมุ่งหมายในการฟังแต่ละครั้งแต่ละเรื่องไว้ก็จะทำให้เราตั้งใจฟังทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่ฟังและได้รับประโยชน์จากการฟังอย่างเต็มที่ เราพอจะแบ่งจุดมุ่งหมายของการฟังออกได้ดังนี้
1) การฟังเพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน
2) การฟังเพื่อความเพลิดเพลิน
3) การฟังเพื่อรับความรู้
4) การฟังเพื่อได้คติชีวิตและความจรรโลงใจ

3. ประโยชน์ของการฟัง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้
ประโยชน์ต่อตนเอง
1) การฟังที่ดีเป็นพฤติกรรมของผู้มีมารยาทในการเข้าสังคม ในวงสนทนาหรือในสถานที่และโอกาสต่างๆ ไม่มีผู้พูดคนใดที่ชอบให้คนอื่นแย่งพูดหรือไม่ยอมฟังคำพูดของตนเอง การฟังจึงเป็นพฤติกรรมที่ช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตรทำให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
2) การฟังที่ดีทำให้เราได้รู้เรื่องราวที่ฟังโดยตลอด สามารถเข้าใจข้อความสำคัญของเรื่องที่ฟังและจุดมุ่งหมายของผู้พูด
3) การฟังที่ดีช่วยสามารถพัฒนาสมรรถภาพการใช้ภาษา ในทักษะด้านอื่น ๆ กล่าวคือการฟังช่วยให้ผู้ฟังเรียนรู้กระบวนการพูดที่ดีของคนอื่น นับตั้งแต่การเลือกหัวข้อหรือประเด็นในการพูด การปรับปรุงบุคลิกภาพในการพูด และวิธีการเสนอสารที่มีประสิทธิผล
4) การฟังที่ดีเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดสมรรถภาพทางความคิด ผู้ฟังได้พัฒนาพื้นฐานความรู้ และสติปัญญาจากการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดต่างๆ จากการฟัง
5) การฟังที่ดีทำให้เราได้เพิ่มศัพท์ และเพิ่มพูนการใช้ถ้อยคำภาษาได้อย่างรัดกุมและเหมาะสม ผู้ฟังจะสังเกตการใช้ศัพท์และถ้อยคำของผู้พูด ศึกษาวิธีการใช้ถ้อยคำหรือสำนวนโวหารจากผู้พูดแล้วจดจำ ไปเป็นแบบอย่างในการพูดและการเขียน
ประโยชน์ต่อสังคม
การฟังที่ดีเป็นกระบวนการสื่อสารที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในแง่ที่ผู้ฟังนำความรู้แง่คิดต่างๆไปใช้ โดยผู้ฟังเองได้รับผลดีจากการปฏิบัติ และสังคมได้ประโยชน์ทางอ้อม ตัวอย่างเช่น การฟังการอภิปรายเรื่อง การรักษาสุขภาพ ส่วนบุคคล ผู้ฟังได้รับความรู้แนวคิดต่างๆ ในการรักษาสุขภาพจากการฟัง ถ้าผู้ฟังนำไปปฏิบัติตาม ผู้ฟังย่อมมีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ในขณะเดียวกันสังคมนั้นจะมีสมาชิกของสังคมที่มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. หลักการฟัง การฟังที่ดีมีหลักสำคัญในการฟังดังนี้
1) ฟังให้ตรงความหมาย
2) ฟังเพื่อจับใจความสำคัญ
3) ฟังเพื่อหาข้อโต้แย้ง หรือคล้อยตาม
4) ฟังเพื่อความรู้
ในการฟังแต่ละครั้ง อาจมีจุดมุ่งหมายในการฟังสองหรือสามประการในการฟังแต่ละครั้งดังนั้น เราจะสังเกตเห็นในการฟังแต่ละครั้งนั้น บางทีเราฟังการอภิปรายเราต้องใช้เหตุผลในการฟังคือเราต้องใช้การฟังเพื่อหาข้อโต้แย้งหรือคล้อยตามหรือการฟังสารเพื่อความจรรโลงใจเราต้องใช้เหตุผลในการฟังแตกต่างกันออกไป

ไม่มีความคิดเห็น: