วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

หลักการเลือกเรื่องที่จะพูด,การวิเคราะห์เรื่อง

หลักการเลือกเรื่องที่จะพูด

ในการที่จะพูดที่ใดก็ตาม ผู้พูดควรคำนึงถึงเรื่องที่จะไปพูด ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้พูดถนัดหรือมีความสนใจ ก็จะทำให้ผู้พูดพูดได้ดี และถ้าเรื่องเดียวกันนั้นเป็นที่น่าสนใจของผู้ฟังด้วยผู้ฟังก็จะให้ความสนใจติดตามฟัง ผู้พูดก็ประสบความสำเร็จในการพูด ฉะนั้นถ้าผู้พูดเลือกเรื่องที่ตนถนัดก็จะพูดได้ดีนอกจากผู้พูดจะพิจารณาเลือกเรื่องที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังสนใจแล้วผู้พูดควรเลือกเรื่องที่จะให้ประโยชน์และความรู้แก่ผู้ฟัง เพราะตามหลักจิตวิทยานั้น คนเราชอบฟังเรื่องที่ตนจะได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้แล้วคนเรายังสนใจเรื่องที่เป็นแก่นสารของชีวิต เรื่องที่กำลังเป็นข่าว เรื่องที่ช่วยขจัดปัญหาของผู้ฟัง เรื่องที่เกี่ยวกับความบันเทิงและงานอดิเรก ฯลฯ

12. การวิเคราะห์เรื่อง

เมื่อผู้พูดจะไปยังที่ใดที่หนึ่งก็ตาม โดยรู้หัวข้อที่จะพูดแล้ว ขั้นตอนในการตระเตรียมไปพูดนั้นอาจแบ่งเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ 2 ขั้นตอนคือ การวิเคราะห์ผู้ฟังและกาลเทศะ และการตระเตรียมเรื่องพูด
การวิเคราะห์ผู้ฟังและกาลเทศะ (The Audience)เมื่อผู้พูดหัวข้อเรื่องที่จะพูดแล้วก็ควรจะวิเคราะห์ผู้ฟังและกาลเทศะ ควรรู้ว่าผู้ฟังคือ ใครมีพื้นฐานการศึกษาเพียงใด อายุเท่าไร เพศชายหรือหญิง มีอาชีพอะไร มีจำนวนเท่าไรจะพูดที่ใด มีเวลาพูดเท่าไร ทั้งนี้จะได้ตระเตรียมเรื่องให้เหมาะกับผู้ฟังเพราะการพูดชนิดเดียวกันอาจเหมาะสำหรับผู้ฟังกลุ่มหนึ่งแต่อาจไม่เหมาะกับผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่งฉะนั้นการวิเคราะห์ผู้ฟังจึงเป็นการศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและเปรียบได้ว่าผู้พูดได้รู้จักฟังก่อน
1) วัยของผู้ฟัง ผู้ฟังที่มีวัยต่างกันย่อมจะมีความสนใจและเข้าใจเรื่องที่ฟังต่างกัน การเรียนรู้ถึงอายุ ก็เพื่อจะได้ทราบว่า การพูดกับคนในวัยนั้นๆควรจะใช้วิธีการพูดและคำพูดอย่างไรวัยเด็ก เด็กมีลักษณะซุกซน ไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่มีความอดทนฟังเรื่องได้นานๆ เบื่อง่ายชอบเรื่องสนุกสนาน ตลกขบขันชอบเล่น ฯลฯ เนื่องจากเด็กมีประสบการณ์ความรู้และความสนใจน้อย ดังนั้นถ้าจะพูดให้เด็กฟังหรือเขียนเรื่องให้เด็กอ่าน จึงควรจะเลือกเรื่องที่สนุกสนาน แฝงด้วยมุขตลกหรือเรื่องที่ให้ความบันเทิงเพลิดเพลินหรือเรื่องจินตนาการวัยรุ่น วัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะยังไม่มีการรับผิดชอบในเรื่องใดๆและยังไม่เข้าใจในเหตุการณ์บางอย่างเพราะไม่มีประสบการณ์เพียงพอ แต่เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากทดลองกับสิ่งใหม่ๆ (modernity) ชอบชีวิตที่ตื่นเต้น เรื่องที่ครึกครื้น เรื่องที่เกี่ยวกับโลกในอนาคต เรื่องที่เป็นแบบฉบับในการสร้างความก้าวหน้า ชีวิตที่ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค เรื่องที่เกี่ยวกับความกล้าหาญความภาคภูมิใจ และการนำชื่อเสียงมาสู่ตนเองและวงศ์ตระกูล ตลอดจนประเทศชาติฉะนั้นการเตรียมเรื่องพูดกับเด็กวัยรุ่นจึงควรมีจุดมุ่งหมายที่มุ่งในเหตุการณ์ที่ทันสมัย แนวทางที่น่าทดลองน่ากระทำตาม การยอมรับความคิดเห็นและความสามารถของวัยรุ่นอย่างเป็นมิตร การเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือวัยกลางคน วัยกลางคนนี้เป็นวัยที่เริ่มจากอายุ 45 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่มีความรับผิดชอบกำลังสร้างฐานะและมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่อาชีพ การงานและชื่อเสียง เป็นวัยที่มุ่งมั่นในความประพฤติและอุดมคติของตนเอง รักความก้าวหน้า ความคิดอ่านกว้างขวาง และมีประสบการณ์พอสมควร เรื่องที่ควรนำมาพูดควรเกี่ยวกับ การครองชีพ มนุษยสัมพันธ์ กฎหมาย ความก้าวหน้าในชีวิต แนวการศึกษาของเยาวชน สังคมและความเป็นอยู่ อนาคตของเยาวชน ฯลฯ
วัยชรา คนวัยชราเป็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์มากชอบยึดถือสิ่งที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เช่น คุณธรรม เป็นผู้ที่ชอบคิดและมุ่งหวังที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของครอบครัววงศ์ตระกูลจึงควรเลือกเรื่องเกี่ยวกับธรรมะหรือเรื่องที่แฝงไว้ด้วยคุณธรรม เรื่องธรรมชาติความจำในอดีต สังคมในอดีตที่คนวัยชรามีส่วนสร้างสรรค์หรือเกี่ยวข้อง ฯลฯ ส่วนการจัดเรื่องนั้นควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย พูดยกย่องความสามารถ ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล และควรจะพูดในทำนองผู้ปรับทุกข์
2) เพศของผู้ฟัง ความสนใจของผู้ฟังนั้นย่อมขึ้นอยู่กับเพศเหมือนกัน ผู้พูดควรตระเตรียมเรื่องให้เหมาะสมกับเพศของผู้ฟังดังนี้เพศหญิง เพศหญิงมักสนใจในเรื่องความสวยความงาม การบ้านการเรือน การสมาคม การแต่งกาย การเสริมสร้างบุคลิกภาพ ความเคลื่อนไหวของสังคม ความบันเทิง ฯลฯเพศชาย เพศชายมักสนใจในเรื่องการเมือง การงาน สวัสดิภาพของครอบครัว การกีฬา เครื่องยนต์กลไก ฯลฯ เมื่อจะพูดให้เพศชายฟัง ผู้พูดควรตระเตรียมเรื่องให้พร้อม เนื้อเรื่องและคำพูดที่ใช้นั้นควรมีเหตุผลหนักแน่น น่าเชื่อถือ เพราะผู้ชายเป็นเพศที่จะถูกชักจูงโน้มน้าวจิตใจได้ยากกว่าเพศหญิง และเมื่อจะพูดให้เพศหญิงฟัง ผู้พูดควรนำคำที่สุภาพ อ่อนหวานมาใช้ เพราะเพศหญิงเป็นเพศที่อารมณ์ละเอียด อ่อนไหวง่าย
3) ความแตกต่าง ทางความเชื่อถือและศาสนาเป็นที่ทราบกันว่าเชื้อชาติ ศาสนา จารีตประเพณี และความเชื่อถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนเรายึดถือกันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งความเชื่อถือและหลักปฏิบัติทางศาสนาบางอย่างก็เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล แต่คนในสังคมบางกลุ่มก็ยังยึดมั่นและปฏิบัติสืบต่อกันมา ฉะนั้นผู้พูดจึงควรศึกษาและระมัดระวังในเรื่องนี้ ควรจะทราบว่าผู้ฟังส่วนใหญ่ถือศาสนาใด ยึดมั่นแนวปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและไม่กล่าวถึง
4) ฐานะและอาชีพของผู้ฟัง (Class Audiences) การเรียนรู้อาชีพฐานะหรือชั้นของผู้ฟังมาก่อนย่อมเป็นผลกำไรของผู้พูดเพราะผู้ที่ต่างอาชีพกันย่อมมีความสนใจต่างกัน เมื่อผู้พูดรู้ว่าผู้ฟังเป็นคนชั้นใดจะได้สามารถตระเตรียมเนื้อหาตลอดจนวิธีการพูดได้ถูกต้อง ฐานะหรือชั้น ของผู้ฟังอาจแบ่งออกได้ดังนี้
- ชนชั้นกลาง (The middiences ) คนชนชั้นกลางส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนที่มีอาชีพการงานเป็นของตนเองเช่น พ่อค้า นักธุรกิจและผู้ที่รับราชการในขั้น “หัวหน้า” คนชั้นกลางเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์มากพอสมควรมีใจคอกว้างขวางมีความอดทนมีความเชื่อมั่นในตนเอง พร้อมที่จะฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตน เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย การปรับปรุงความเป็นอยู่ บุคลิกภาพ สิทธิพิเศษผู้พูดควรเตรียมเรื่องเศรษฐกิจการลงทุน
- ชนชั้นกรรมาชีพ (The Working Class) คนในชนชั้นนี้ได้แก่ ผู้ที่ใช้แรงงาน ซึ่งได้แก่กรรมกร ผู้รับจ้าง ลูกจ้างแรงงานฯลฯ คนในชนชั้นกรรมาชีพนี้เป็นผู้ที่มีความฉลาดพอสมควร (แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนสูง) เป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการทำมาหาเลี้ยงชีพ สนใจในการเมือง เศรษฐกิจ แสวงหาความยุติธรรม รักพวกพ้อง และเกลียดการดูถูกเหยียดหยามฉะนั้นผู้พูดจึงควรเตรียมเรื่องด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายให้ความเป็นกันเอง หลีกเลี่ยงการพูดดูถูกเหยียดหยาม แต่ควรพูดในทำนองให้คำปรึกษา ให้ความเห็นใจ และให้ผู้ฟังเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตน
- ผู้ฟังที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ (The Expert Audience) ถ้าผู้ฟังเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญผู้พูดจะต้องตระเตรียมเรื่องที่พูดให้พร้อมและให้ดียิ่ง เนื้อเรื่องที่ค้นคว้ามาพูดนั้นจะต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริงอ้างอิง สนับสนุน และเนื้อเรื่องที่จะนำไปพูดนั้นควรให้ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในสาขาวิชานั้น ๆ ตรวจดูก่อน
- ผู้ฟังเรื่องทางการเมือง (The Political Audience) ถ้าผู้พูดจะต้องเตรียมเรื่องพูดในแนวการเมืองผู้พูดควรเตรียมตัวล่วงหน้าว่าผู้ฟังส่วนหนึ่งจะเป็นมิตรและอีกส่วนหนึ่งจะคอยคัดค้าน ผู้พูดจะต้องเตรียมเนื้อเรื่องที่มีหลักฐานเหตุผลข้อเท็จจริงอ้างอิงได้ ข้อความต่างๆที่นำมาอ้าง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องพาดพิงกับเหตุการณ์จะต้องแน่นอน
- ระดับการศึกษาผู้พูดควรพิจารณาว่าผู้ฟังมีระดับการศึกษามากน้อยเพียงไร ถ้าผู้ฟังเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ผู้พูดจะต้องเตรียมเรื่องด้วยภาษาง่ายๆ เนื้อหาสั้นกระทัดรัด แต่ถ้าผู้ฟังเป็นผู้มีการศึกษาสูง ผู้พูดจะต้องใช้คำพูดที่มีเหตุผล มีแนวโน้มในด้านวิชาการ
- สถานที่ การรู้ถึงสถานที่ที่จะพูดนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้พูด ควรจะทราบล่วงหน้าเพื่อจะได้ตระเตรียมเนื้อเรื่องและการแต่งกายได้ถูกต้องและเหมาะสม
- เวลา เวลาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้การพูดประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่น การพูดในเวลากลางวัน หรือหลังจากอาหารกลางวันแล้วอากาศมักร้อนอบอ้าวผู้ฟังอาจนั่งฟังไม่สบายเท่าที่ควรผู้พูดต้องเตรียมเรื่องพูดให้รวบรัดได้ใจความ ส่วนการพูดใกล้กับเวลาอาหารกลางวันหรือเวลาอาหารเย็นก็ไม่เหมาะ นอกจากนี้ผู้พูดควรทราบล่วงหน้าว่าตนมีเวลาพูดมากน้อยเพียงไร เพราะจะได้เตรียมเรื่องมาพูดให้พอเหมาะกับเวลา
- โอกาส การพูดในแต่ละโอกาสย่อมไม่เหมือนกัน เช่น การพูดให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ย่อมแตกต่างไปจากพูดอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิด การใช้ภาษาท่าทาง ตลอดจนการแต่งกายก็เปลี่ยนไป ดังนั้นผู้พูดควรรู้ล่วงหน้าก่อนว่าตนจะพูดในโอกาสอะไร เพื่อจะได้เตรียมเนื้อเรื่องและเตรียมตัวไปพูดได้ถูกต้องและเหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น: