วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

จุดมุ่งหมายของการพูด

จุดมุ่งหมายของการพูด
การพูดแต่ละครั้งมีจุดมุ่งหมายต่างกัน ผู้พูดจะต้องรู้จักจุดมุ่งหมายที่พูดได้อย่างถูกต้องตรงความต้องการของผู้ฟังมีนักพูดบางท่านเวลาพูดในโอกาสต่างๆ ไม่เข้าใจไม่รู้ซึ้งถึงความมุ่งหมายที่เขาต้องการให้พูด แต่กลับไปพูดนอกเรื่องที่ไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้ ก็เป็นผลทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้นักพูดที่ดีจะต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจความมุ่งและวัตถุประสงค์ที่จะพูดแต่ละครั้งให้ชัดเจนและพูดตรงกับความมุ่งหมายที่วางไว้ โดยกำหนดได้ดังนี้
1) การพูดเพื่อให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงแก่ผู้ฟังการพูดแบบนี้เป็นการพูดโดยอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องที่ผู้ฟังต้องการจะทราบ การพูดต้องพูดให้ตรงประเด็นและหัวข้อที่กำหนดให้ บางครั้งผู้พูดต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบการบรรยายไปด้วย เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องที่พูดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การพูด เช่นนี้ส่วนมากจะใช้วิธีการพูดด้วยการบรรยาย อธิบาย พรรณนา เล่าเรื่อง ชี้แจง สาธิตและวิธีเสนอรายงาน ฯ
2) การพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังการพูดแบบนี้ ผู้พูดจะต้องใช้ศิลปะในการพูดหลายๆ แบบเพื่อจูงใจให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสมีความคิดเห็นคล้อยตาม หรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้พูดตั้งความมุ่งหมายไว้ เช่น การพูดชักชวนให้เลื่อมใสในลัทธิทางศาสนา การพูดให้ประชาชนเลือกตนเองเป็นผู้แทนของนักการเมือง การพูดโฆษณาขายสินค้าของผู้แทนบริษัท ฯ
3) การพูดเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินหรือเพื่อจรรโลงใจแก่ผู้ฟังการพูดแบบนี้ ผู้พูดต้องเข้าใจว่าบรรยากาศในการพูดก็ดี ความต้องการของผู้ฟังก็ดี เป็นการพูดที่ผู้พูดจะต้องเน้นให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนานบันเทิงควบคู่ไปกับการได้รับความรู้สึกนึกคิดที่แปลกใหม่ เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการพูดในลักษณะเสริมสร้างความนึกคิดของผู้ฟังให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับจิตใจของผู้ฟังในทางที่ดีมีความสุขในขณะที่ฟังการพูด เช่น การกล่าวคำสดุดี กล่าวคำอวยพร กล่าวขอบคุณ หรือกล่าวคำปราศรัยในงานบันเทิงต่างๆ ที่จัดขึ้นในโอกาสต่างๆ
4) การพูดเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือคำตอบต่างๆกับการพูดแบบนี้ ผู้พูดจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่พูดได้เป็นอย่างดีหรือสามารถตอบปัญหาต่างๆ ที่ผู้ฟังสงสัยอยากจะรู้อยากจะฟังจากผู้พูด จึงเป็นการพูดในเชิงวิชาการหรือในแนวทางขจัดปัญหาข้อสงสัยต่างๆ ให้ปรากฏอย่างมีเหตุมีผล บางครั้งก็เป็นการพูดเพื่อตอบปัญหาของผู้ที่มีความสงสัยถามปัญหาขึ้นมา เช่น การพูดสัมมนาในทางวิชาการ การพูดตอบกระทู้คำถามของรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี
5) การพูดเพื่อแนะนำและชี้แนะเรื่องต่างๆการพูดแบบนี้ เป็นการพูดในเวลาจำกัดตามลักษณะเรื่องแนะนำและเวลาที่จะอำนวยให้ ส่วนมากเป็นการพูดแนะนำบุคคล แนะนำการปฏิบัติงานและลักษณะของงานที่ทำของหน่วยต่างๆ การพูดให้คำแนะนำมุ่งการพูดเพื่อให้ผู้ฟังทราบเฉพาะข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างย่อๆ พอกับเวลา ใช้กับการรายงานตัวของผู้ใต้บังคับบัญชาต่อผู้บังคับบัญชา การแนะนำสรุปงานในหน้าที่รับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาต่อผู้บังคับบัญชาในโอกาสตรวจเยี่ยม ฯ

4. องค์ประกอบของการพูด
ธรรมชาติของการพูดโดยทั่วไปมีองค์ประกอบดังนี้
1) ผู้พูด ผู้พูดทำหน้าที่ส่งสารผ่านสื่อไปให้ผู้ฟัง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องมีความสามารถใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะของตนเอง ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดไปสู่ผู้ฟังให้ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ความสามารถของผู้พูดที่จะทำให้ฟังได้เข้าใจมากน้อยแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้
- ผู้พูดมีความสามารถในการใช้ภาษา เสียง และกิริยาท่าทางเพียงไรผู้พูดมีเจตคติต่อเรื่องที่จะพูด และต่อผู้ฟังแค่ไหน ผู้พูดมีระดับความรู้ในเรื่องที่พูดมากน้อย และลึกซึ้งเพียงใดผู้พูดมีฐานะทางสังคม พื้นฐานทางจริยธรรม และวัฒนธรรมอยู่ในระดับใด
2) สาร เนื้อหาที่ผู้พูดส่งไปนั้นจะต้องมีคุณค่า และคุ้มค่าแก่การเสียเวลาของผู้ฟัง ดังนั้น สารที่ผู้พูดส่งไปนั้นจะต้องเตรียมมาแล้วอย่างดี เช่น การ คัดเลือก จัดลำดับขั้นตอน และการฝึกฝนตนเองของผู้พูดอีกส่วนหนึ่ง
3) สื่อ หมายถึง สิ่งที่นำสารไปสู่ผู้ฟัง ได้แก่ เวลา สถานที่ อากาศ และเครื่องรับรู้ต่าง ๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น
4) ผู้ฟัง ผู้ฟังอยู่ในฐานะที่จะต้องรับสารของผู้พูดโดยอาศัยสื่อเป็นเครื่องนำพาผู้ฟังจะสามารถรับสารได้ตรงกับเจตนาของผู้พูดได้มากน้อยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น ๆ เช่น ทักษะ ความพร้อม ความสนใจ พื้นความรู้ วัฒนธรรม และเจตคติของผู้ฟังอีกด้วย
5) ปฏิกิริยาจากผู้ฟัง ในขณะที่ผู้ฟังรับสารและแปลสารนั้น ก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบ เช่น เมื่อพูดถูกใจหรือเป็นที่พอใจ ก็จะมีอาการผงกศรีษะ ปรบมือหัวเราะ ยิ้ม และแสดงให้เห็นถึงการชื่นชมพร้อมกับตั้งใจฟัง แต่เมื่อพูดไม่ถูกใจหรือไม่พอใจ ก็จะมีการโห่และแสดงให้เห็นถึงความชัง และขัดแย้งต่อผู้พูด เป็นต้น