วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ส่งสารด้วยการพูด

ส่งสารด้วยการพูด
การพูดมีความสำคัญกับมนุษย์เราอย่างมาก ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ประกอบกิจกรรมใด ส่วนหนึ่งของการพูดนั้นสามารถสอนและฝึกกันได้ ซึ่งการพูดที่มีประสิทธิภาพเกิดจากการสังเกตและการฝึกฝน (การพูดที่มีประสิทธิภาพหมายถึงการพูดที่ชัดเจน พูดได้ตรงตามความคิดของผู้พูดหรือเนื้อเรื่องที่พูด สามารถรวบรวมเนื้อหาได้ตรงประเด็น)การพูดแบ่งได้ 2 ประการ คือ การพูดระหว่างบุคคล และ การพูดในกลุ่ม

• การพูดระหว่างบุคคล
เป็นการพูดที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีเนื้อหาจำกัดแน่นอน ทั้งผู้พูดและผู้ฟังไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า แต่เป็นการพูดที่ใช้มากที่สุด ใช้ในชีวิตประจำวัน การพูดชนิดนี้พอจะแยกได้ดังนี้
1) การทักทายปราศรัย
การพูดชนิดนี้เป็นการช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันทั้งผู้ที่เรารู้จักอยู่แล้วหรือผู้ที่เรายังเคยไม่รู้จัก โดยการพูดชนิดนี้ผู้พูดควรยิ้มแย้มและไม่ควรก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น เมื่อเราทักทายผู้ที่อาวุโสมากกว่าก็ควรที่จะกล่าวคำว่า สวัสดีครับ พร้อมทั้งพนมมือไหว้ การกระทำดังกล่าวนั้นจะก่อให้เกิดไมตรีจิตแก่กันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
2) การแนะนำตนเอง
การแนะนำตัวเองนั้นมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน เพราะเราต้องได้พบ ได้รู้จักกับคนอื่นๆอยู่เสมอ การแนะนำตนเองมี 3 โอกาสสำคัญ ดังนี้
- การแนะนำตนเองในที่สาธารณะ การแนะนำชนิดนี้ควรจะพูดจากันเล็กน้อยก่อนแล้วค่อยแนะนำตัว มิใช่ว่าจู่ๆก็แนะนำตัวขึ้นมา
- การแนะนำตนเองในการทำกิจธุระ การแนะนำชนิดนี้มักจะต้องไปพบผู้ที่ยังไม่รู้จักกันซึ่งจะต้องนัดหมายไว้ล่วงหน้า ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไปให้ตรงตามเวลานัด แนะนำตนเองด้วยน้ำเสียงที่สุภาพ ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
- การแนะนำตนเองในกลุ่มย่อย ควรแนะนำตนเองเพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง และสามารถคุยหรือประชุมได้อย่างสะดวกใจยิ่งขึ้น
3) การสนทนา
เป็นกิจกรรมที่บุคคลสองคนหรือมากกว่านั้น พูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ แบ่งได้ 2 แบบคือ
- การสนทนาระหว่างบุคคลที่คุ้นเคยกัน การสนทนาชนิดนี้ผู้พูดไม่ต้องคำนึงถึงมากนัก แต่ก็ไม่ควรก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของกันและกัน
- การสนทนากับบุคคลแรกรู้จัก ควรที่จะสำรวมถ้อยคำ กิริยา มารยาท ควรจะสังเกตว่าคู่สนทนานั้นชอบพูดหรือชอบฟัง

• การพูดในกลุ่ม
การพูดในกลุ่มนั้นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในสมัยปัจจุบัน ทั้งในชีวิตประจำวันและในการศึกษา โดยเฉพาะในการศึกษานั้นหากมีการแบ่งกลุ่มให้ทุกคนได้ช่วยกันออกความคิดเห็น ก็จะเป็นการเสริมสร้างทั้งด้านความคิด และด้านทักษะภาษา
1) การเล่าเรื่องที่ได้อ่านหรือฟังมา
การเล่าเรื่องที่ตนได้อ่านหรือฟังมานั้นไม่จำเป็นต้องเล่าทุกเหตุการณ์แต่ควรเล่าแต่ประเด็นที่สำคัญๆ ภาษาที่ใช้เล่าก็ควรเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ ใช้น้ำเสียงประกอบในการเล่าเรื่อง เช่น เน้นเสียงในตอนที่สำคัญ รวมไปถึงการใช้กริยาท่าทางประกอบตามความเหมาะสมของเรื่องที่เล่า ผู้เล่าควรเรียงลำดับเรื่องให้ถูกต้องและอาจจะสรุปเป็นข้อคิดในตอนท้ายก็ได้
2) การเล่าเหตุการณ์
ในชีวิตประจำวันของเรานั้น มักจะมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ ในบางครั้งผู้พูดก็มีความจำเป็นที่จะต้องเล่าเหตุการณ์นั้นให้ผู้อื่นฟัง อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจ ตื่นเต้น โดยการที่จะเล่าเหตุการณ์นั้นๆให้น่าสนใจ ก็ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการแสดงเหตุผลว่าเหตุการณ์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจยังไง ใช้ถ้อยคำและภาษาสำนวนที่ทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพ เล่าเหตุการณ์ให้ต่อเนื่องกันเพื่อผู้ฟังจะได้ติดตามเรื่องได้ดี น้ำเสียงชัดเจน เน้นตอนที่สำคัญ ใช้ท่าทาง กิริยาประกอบในการเล่าด้วยเพื่อที่จะได้ดูเป็นธรรมชาติ แหละสุดท้ายควรที่จะแสดงข้อคิดเพิ่มเติมตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น: