วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ประเภทของการพูด

ประเภทของการพูด
การพูดอาจแบ่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายแบบด้วยกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงการพูดเพียง2 แบบ คือ

• แบบที่ 1 แบ่งตามวิธีพูดมี 4 ประเภท คือ

1) การพูดโดยฉับพลันหรือกระทันหัน (Thelmpromptuspeech)ได้แก่การพูดที่ผู้พูดไม่รู้ตัวมาก่อนจะต้องพูดไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้าทั้งในด้านเนื้อเรื่องที่จะพูด แต่ก็ได้รับเชิญหรือได้รับมอบหมายให้พูด เช่น การพูดกล่าวอวยพรในวันเกิด กล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว กล่าวต้อนรับผู้มาเยือน กล่าวขอบคุณผู้มีอุปการะสนับสนุน การพูดกะทันหันนี้ หากผู้พูดได้รับเชิญในลักษณะดังกล่าวข้อที่ควรปฏิบัติเพื่อให้การพูดประสบความสำเร็จ ก็ควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้
- ต้องคุมสติให้มั่น อย่าประหม่าหรือตกใจตื่นเต้นจนเกินไป ทำจิตใจให้ปกติและสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเองด้วยการสร้างความพึงพอใจและความยินดีที่จะได้พูดในโอกาสเช่นนั้น
- ให้นึกถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่เรียนรู้หรือได้พบเห็นมา ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์แก่ผู้ฟังและเป็นเรื่องราวที่เข้ากับบรรยากาศที่จะพูดแม้ว่าขณะนั้นจะมีเวลาโอกาสสั้นๆ ก่อนจะพูดก็ควรนึกคิดรวมทั้งขณะที่เดินจากที่นั่งไปยังที่จะพูด
- กำหนดเรื่องที่จะพูดให้ชัดเจน กำหนดเวลาพูดให้เหมาะสมกับโอกาสและงานนั้นๆอย่าพูดไปโดยไม่มีการกำหนดหัวเรื่องและกำหนดเวลาไว้เพราะจะมีผลให้การพูดไม่ดี คนฟังก็เบื่อหน่าย

2) การพูดโดยการเตรียมการมาล่วงหน้า (The Extemperamous) การพูดแบบนี้เป็นการพูด ที่ผู้พูดได้มีโอกาสเตรียมตัวมาก่อนคือ ผู้พูดรู้ว่าตนเองได้รับเชิญหรือจะต้องพูดในเรื่องอะไรบ้าง จึงต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเท่าที่โอกาสเวลาจะอำนวยให้ ดังนั้นการเตรียมในเรื่องต่างๆ ที่จะพูดเป็นคุณสมบัติสำคัญที่นักพูดจะต้องปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ

3) การพูดโดยอาศัยอ่านจากต้นฉบับ (Thespeakingfrommanuscripts) การพูดประเภทนี้เป็นการพูดตามต้นฉบับที่เขียนขึ้นซึ่งเป็นการเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี ส่วนมากเป็นการพูดทางพิธีการต่าง ๆ สำคัญๆ เช่น การกล่าวเปิดงานการกล่าวรายงาน การกล่าวเปิดประชุม การกล่าวรายงานการประชุม การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวคำสดุดีการกล่าวคำให้โอวาท การกล่าวต้อนรับที่เป็นพิธีการสำคัญๆ ฯลฯ
การพูดประเภทนี้ผู้พูดจะต้องฝึกฝนตนในเรื่องการอ่านต้นฉบับให้คล่อง การฝึกสายตาเวลาพูดการฝึกอ่านย่อหน้าวรรคตอนและคำศัพท์ที่ยากตลอดทั้งสำนวนการพูดให้เหมาะสม

4) การพูดโดยวิธีท่องจำ (The memorized speaking) การพูดลักษณะนี้เป็นการพูด ที่ผู้พูดจะต้องเตรียมตัวท่องจำเนื้อหาอย่างละเอียดจากเอกสาร ตำรา หนังสือต่างๆ อย่างแม่นยำ เช่น การท่องจำตัวเลข จำสุภาษิตคำพังเพย เนื้อหาที่สำคัญๆ การพูดแบบนี้เป็นการพูดที่ผู้พูดจะต้องใช้ความเพียรพยายามมากในการจดจำเนื้อหา และจะต้องมีเวลาในการเตรียมตัว เช่น การเทศน์ของพระสงฆ์ การสวดอ้อนวอนบวงสรวงพิธีกรรมของพราหมณ์ การทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ และการทำพิธีกรรมของศาสนาต่างๆ เป็นต้น

• แบบที่ 2 แบ่งตามจำนวนผู้ฟัง มี 2 ประเภท คือ

1) การพูดรายบุคคล เป็นการพูดตัวต่อตัว ได้แก่ การพูดที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การสนทนา การสัมภาษณ์ การเล่าเรื่อง การแนะนำตัว เป็นต้น
2) การพูดในที่ชุมนุมชน เป็นการพูดที่มีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก เป็นการพูดที่มีแบบแผนต้องมีการเตรียมตัว และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ การพูดประเภทนี้ได้แก่ การบรรยาย การอภิปราย การปาฐกถา การแสดงสุนทรพจน์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: